ภาคผลิตอุตสาหกรรมกลับมา -2.1% ทำการฟื้นตัวรายได้ไม่เท่าเทียม

03 กรกฎาคม 2567
ภาคผลิตอุตสาหกรรมกลับมา -2.1% ทำการฟื้นตัวรายได้ไม่เท่าเทียม
วิจัยกรุงศรี เผย เศรษฐกิจเดือน พ.ค.ฟื้นตัว แต่ยังมีความไม่เท่าเทียมกันในแต่ละสาขาเศรษฐกิจ แม้ปัจจัยเชิงวัฏจักรหนุนการฟื้นตัวของอุปสงค์ แต่ปัจจัยเชิงโครงสร้างสร้างแรงกดดันต่อภาคการผลิตและการจ้างงานในหลายอุตสาหกรรม ชี้ ภาคผลิตอุตสาหกรรมกลับมา -2.1% กระทบต่อการฟื้นตัวของรายได้ของแรงงานในแต่ละกลุ่มต่างกัน

วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า เศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคมได้แรงหนุนจากการเติบโตของภาคท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนพฤษภาคมยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวแม้ชะลอลงบ้างจากเดือนก่อน

นำโดยกิจกรรมในภาคบริการที่ปรับดีขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของทั้งรายรับจากการท่องเที่ยว (+4.1% MoM sa) และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ (+9.2%) ประกอบกับการใช้จ่ายของภาครัฐทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนขยายตัวเร่งสูงขึ้น ภายหลัง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้เมื่อปลายเดือนเมษายน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย (+0.3%) ส่วนการลงทุนภาคเอกชนพลิกกลับมาหดตัวจากเดือนก่อน (-3.0%) เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำ (-1.7%) และการผลิตภาคอุตสาหกรรม (-0.6%)

จากเครื่องชี้เศรษฐกิจในช่วงสองเดือนแรกของไตรมาส 2 ปีนี้แม้มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวแต่ยังมีความไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภาคส่วน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กดดันภาคการผลิต การลงทุน และการบริโภค โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้การฟื้นตัวส่วนใหญ่ยังได้รับแรงหนุนจากปัจจัยเชิงวัฏจักร (Cyclical factor) ตามการเติบโตของภาคท่องเที่ยวและการเร่งขึ้นของการลงทุนภาครัฐที่จะมีบทบาทมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตต่ำท่ามกลางความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง อาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของแรงงานในภาคการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยลบซ้ำเติมต่อการบริโภคของภาคเอกชนที่ประสบกับปัญหาเชิงโครงสร้างจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

การผลิตภาคอุตสาหกรรมแม้อาจผ่านจุดต่ำสุดแล้วแต่การฟื้นตัวยังเปราะบางเนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้าง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายงานดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมพลิกกลับมาหดตัวที่ -1.5% YoY ผลจากการผลิตที่ปรับลดลงในอุตสาหกรรมหลัก

อาทิ 1.ยานยนต์ การผลิตหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ตามกำลังซื้อในประเทศชะลอตัว และสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ 2.ชิ้นส่วนและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และ 3.คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ เนื่องจากลูกค้ายังมีสต๊อกสูงจึงชะลอคำสั่งซื้อ ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ -2.1%

การกลับมาหดตัวของดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม หลังจากเดือนเมษายนที่ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 19 เดือน ที่ 3.4% สะท้อนถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยแม้อาจผ่านจุดต่ำสุดแล้วแต่การฟื้นตัวยังเปราะบาง ทั้งนี้ ธปท.ชี้ว่าการฟื้นตัวของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมจะไม่เท่ากันเนื่องจากปัจจัยเชิงวัฏจักรและปัจจัยเชิงโครงสร้าง

โดยกลุ่มที่ได้รับผลจากปัจจัยเชิงวัฏจักรมีสัญญาณเชิงบวกตามอุปสงค์ที่ฟื้นตัว อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม ปิโตรเลียม และเครื่องปรับอากาศ

ขณะที่กลุ่มยานยนต์ได้รับผลทั้งจากปัจจัยเชิงวัฏจักรและเชิงโครงสร้าง จากกระแสความต้องการรถยนต์ EV มากขึ้น แต่มีการแข่งขันที่รุนแรง และสำหรับกลุ่มที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างคาดว่าจะยังฟื้นตัวได้ช้า อาทิ HDD, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปิโตรเคมี และเหล็กขั้นมูลฐาน

นอกจากนี้ การฟื้นตัวของแต่ละภาคการผลิตที่ไม่เท่ากันจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของรายได้ของแรงงานในแต่ละกลุ่มต่างกัน โดยในภาคการผลิตมีแรงงานราว 6.3 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16% ของแรงงานทั้งหมด
แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.